เทคนิคการปลูกฝรั่งกิมจู ด้วยเกษตรอินทรีย์ และได้ผลผลิตตลอดทั้งปี

ฝรั่งกิมจู มีเปลือกบาง รสชาติหวาน กรอบอร่อย เป็นสายพันธุ์ฝรั่งที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมรับประทานกันในปัจจุบัน บางครั้งการปลูกฝรั่งในรูปแบบของการใช้เคมีทั่วไปอาจจะมีสารพิษตกค้างซึ่งไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากนัก อีกทั้งยังใช้ต้นทุนในการผลิตที่สูง แต่ทว่าการปลูกฝรั่งแบบ เกษตรอินทรีย์ ยังคงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพซึ่งมีความมั่นใจว่าจะปลอดภัยจากสารพิษ 100% อีกทั้งในกระบวนการผลิตจะใช้ต้นทุนไม่สูงมากนักและยังให้ผลผลิตได้ดีตลอดทั้งปีโดยปราศจากการใช้เคมีใดๆ

นายอดุลย์ โคลนพันธ์ เ ครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดและเกษตรกรผู้ผลิตข้าวอินทรีย์และพืชอินทรีย์แบบผสมผสาน บ้านเจริญสามัคคี ม.2 ต.บุ่ง อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ให้สัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่ร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวถึงกระบวนการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานบนพื้นที่ 7 ไร่ ซึ่งอยู่ใกล้กับอ่างเก็บน้ำห้วยโพธิ์ในโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กเพื่อการเกษตรของกรมชลประทาน โดยคุณอดุลย์ได้จัดสรรพื้นที่แบ่งเป็นการทำนา 2 ไร่ ปลูกพืชผัก-ผลไม้ 4 ไร่ ที่อยู่อาศัยและการเลี้ยงสัตว์ 1 ไร่ มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการจำหน่ายพืชผักสวนครัว มะละกอ และฝรั่งกิมจูที่ปลูกสลับกันกับไม้ผลชนิดอื่นๆ กว่า 700 ต้น โดยในทุกขั้นตอนการผลิตจะเป็นรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ 100% และคุณอดุลย์ยังให้คำแนะนำขั้นตอนวิธี การปลูกฝรั่งกิมจูแบบเกษตรกรอินทรีย์ ที่ให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ดังนี้

การเตรียมดินและการปลูก : ทำการไถตากดินทิ้งไว้ 7 วัน แล้วไถพรวนดินรองพื้นด้วยมูลไก่แกลบที่ผ่านกระบวนการหมักและย่อยสลายดีแล้ว อัตรา 500 กก./ไร่ ทำการปลูกด้วยระยะห่าง 3×3 เมตร หรือขนาดของพื้นที่ปลูกตามความเหมาะสม โดยขุดหลุมปลูกด้วยกิ่งพันธุ์ที่ได้จากการตอน กลบดินให้แน่นพอควร ใช้ไม้ปักเป็นหลักผูกป้องกันลมโยกและรดน้ำทันที

การให้น้ำ : ใช้ระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์ อย่างน้อย 2-3 วัน/ครั้ง เพื่อกระจายน้ำและสร้างความชุ่มชื้นในดินได้อย่างทั่วถึง

การให้ปุ๋ยทางดิน : ใช้ปุ๋ยหมัก(มูลไก่แกลบ 70% ,แร่ฟอสเฟต 15% ,ปูนโดโลไมท์ 15%) ผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วนำไปโรยบริเวณรอบๆโคนต้นและทรงพุ่ม อัตรา 10 กก./ต้น แล้วพรวนดินกลบ(ก่อนใส่ปุ๋ยให้กำจัดหญ้าวัชพืชออกให้หมด) โดยทิ้งระยะห่างในการใส่ปุ๋ย 3 เดือน/ครั้ง

การให้ปุ๋ยทางใบ : ใช้น้ำหมักชีวภาพจากผลฝรั่ง อัตรา 1 ลิตร/ไร่ ปล่อยไปกับระบบการให้น้ำแบบสปริงเกอร์

1 ครั้ง/เดือน (สูตรการทำน้ำหมักชีวภาพ : สับหรือหั่นผลฝรั่งให้เป็นชิ้นเล็กๆ 3 กก. คลุกเคล้ากับกากน้ำตาล 1 กก.หมักทิ้งไว้ 1 เดือน ก่อนนำไปใช้งาน)

การกำจัดวัชพืช : ใช้วิธีการถอนหรือดายหญ้าแทนการใช้สารเคมีกำจัด แล้วนำหญ้าที่ได้ไปคลุมบริเวณโคนต้นฝรั่งเพื่อรักษาความชื้นในดิน

ศัตรูของฝรั่งและวิธีการป้องกัน : หนอนแมลงวันทองเจาะผล : ป้องกันได้โดยนำถุงพลาสติกไปห่อผลฝรั่งไว้ในช่วงที่เริ่มติดผลขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว ซึ่งวิธีนี้จะช่วยตัดวงจรชีวิตของแมลงวันทองไม่ให้แพร่ขยายพันธุ์ต่อไป หรือหากพบการระบาดแล้วให้เก็บผลฝรั่งไปทำเป็นน้ำหมักชีวภาพเพื่อนำกลับมาบำรุงต้นฝรั่งต่อไป

เพลี้ยแป้ง : มักจะระบาดในช่วงที่สภาพอากาศมีความแห้งแล้ง ป้องกันและขับไล่ได้โดยการเปิดน้ำสปริงเกอร์ฉีดพ่นไปจนกว่าจะไม่พบการระบาด

การเก็บผลผลิต : ฝรั่งจะเริ่มเก็บผลผลิตได้ภายหลังจากที่เริ่มห่อผลแล้วประมาณ 45 วัน ขนาดของผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 2 ผล/กิโลกรัม มีเปลือกบาง รสชาติหวานอมเปรี้ยว กรอบ อร่อย และสามารถเก็บผลผลิตได้ตลอดทั้งปี อย่างน้อย 5-7 วัน/ครั้ง

การตัดแต่งกิ่ง : ทำการตัดแต่งยอดหรือกิ่งกระโดงออกภายหลังจากเก็บผลผลิต เพื่อให้ต้นฝรั่งแตกยอดใหม่พร้อมติดดอกออกผลต่อไป

Facebook Comments Box